ในหลวงของเรา


ในหลวงของเรา





ชนชาติไทยเป็นชาติที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองมายาวนานและต่อเนื่อง แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์บ้าง แต่ก็ไม่เคยว่างกษัตริย์ และทุกพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเมืองและประชาชนต่าง ๆ กันไปตามความจำเป็นหรือเหมาะสมสำหรับยุคสมัยนั้น ๆ   ไพร่บ้านพลเมืองเองก็มีความจงรักภักดีและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด  และเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระ-ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราช-จักรีวงศ์จะครบ  ๖๐  ปี   ณ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙  อันจะนับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกด้วยเมื่อเทียบกับบรรดากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน จึงจะขออัญเชิญ พระราชกรณียกิจา นัปการ อันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถ และพระเมตตาที่ได้ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย  ตลอดจนความจงรักภักดีที่ทวยราษฎร์มีต่อพระองค์มาเผยแพร่เพื่อเฉลิมพระเกียรติตลอดปีแห่งการเฉลิมฉลองดังต่อไปนี้


พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา

ในเรื่องของการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาของชนชาติไทย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่หลายทาง  ไม่ว่าจะจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศก-มหาราชเข้ามาทางอาณาจักรสุวรรณภูมิ  (ปัจจุบันคือนครปฐม)   เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔  หรือจากศิลาจารึกเก่าแก่ชื่อว่า “จารึกอาณาจักรน่านเจ้า”   ที่เชื่อกันว่ากระทำโดยนักปราชญ์จีน “เชงเหว” เมื่อปี พ.ศ.๑๓๐๙ จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาล  และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก็ล้วนทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการทำนุบำรุงและปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาสืบต่อมาทั้งสิ้น แม้องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้ทรงแสดงพระราชปณิธานไว้ในนิราศท่าดินแดงว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก               ยอยกพระพุทธศาสนา
 จะป้องกันขอบขัณฑสีมา     รักษาประชาชนและมนตรี”

ซึ่งก็ได้ทรงปฏิบัติตามพระราชปณิธานนั้นมาโดยตลอด  และพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อๆ มาก็ได้ทรงทำนุ-บำรุงพระพุทธศาสนาทุกพระองค์อย่างต่อเนื่องจนถึงรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช




ความเข้าใจจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีมาก่อนแล้ว  ต่อมายังได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง และทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง  จึงเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงแถลงพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทต่อมหาสมาคม    อันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และคณะทูตานุทูตความตอนหนึ่งว่า

“โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง  เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมด้วย  และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากพระเชษฐาธิราช ก็ล่วงมากว่าสิบปีแล้ว  เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ควรจะทำตามความตั้งใจไว้นั้นแล้วประการหนึ่ง     อนึ่ง การที่องค์สมเด็จพระสังฆราชหายประชวรมาได้ในคราวประชวรครั้งหลังนี้ก่อให้เกิดความปิติยินดีแก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก  ได้มาคำนึงว่าถ้าในการอุปสมบทของข้าพเจ้า ได้มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์    แล้วก็จักเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธาเคารพในพระองค์ท่านของข้าพเจ้าได้อย่างเหมาะสมอีกประการหนึ่ง   จึงได้ตกลงใจที่จะบรรพชาอุปสมบทในวันที่ ๒๒ เดือนนี้”

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในวันที่ ๒๒  ตุลาคม  พ.ศ.๒๔๙๙   โดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (มรว.ชื่น นพวงศ์)   ฉายาสุจิต.โต  วัดบวรนิเวศวิหารทรงเป็นพระราชอุปัชฌาย์ ทรงได้รับพระสมณนามว่า “ภูมิพโลภิกขุ” 

ระหว่างทรงผนวชได้เสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มีพระนามของพระพุทธรูปว่า พระพุทธนาราวันตบพิตร  ระหว่างที่ทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญพระราชจริยาวัตรดุจพระนวกะทั่วไป  ทรงศึกษาพระธรรม และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด  นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ราษฎรได้เฝ้าถวายธูปเทียน-ดอกไม้ทุกวัน  แล้วได้ทรงนำธูปเทียน-ดอกไม้นั้นไปถวายสักการะบูชาพระรัตนตรัยในโอกาสเสด็จทำวัตรเป็นประจำทุกเช้าทุกเย็น  ทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินออกทรงรับบาตรจากประชาชนทั่วไปอีกด้วย  ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงอยู่ในสมณเพศนั้น ได้ทรงตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ซึ่งก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้เป็นที่เรียบร้อย  ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอภิไธยให้เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙


ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นผู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาจนรอบรู้หลักธรรมอย่างละเอียด  แจ่มแจ้ง  และลึกซึ้ง   แต่พระองค์ก็มิไดทรงกีดกันศาสนาอื่น  ตรงกันข้ามกลับทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อทุกศาสนา   ดังพระราชกรณียกิจที่จะขออัญเชิญมาบางส่วนดังนี้

ในทางพระพุทธศาสนา

นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพอพระราชหฤทัยที่จะฟังธรรม – สนทนาธรรมกับพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและปฏิบัติธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกื้อหนุนพระพุทธศาสนาอีกนานัปการ เช่น 



*พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่สามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค  เมื่อจะอุปสมบทให้เป็นนาคหลวง 

*โปรดเกล้าฯ ให้จัดรายการธรรมะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่    ทางสถานีวิทยุอ.ส.  เพื่อเผยแพร่ศีลธรรม  

*โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร., พระพุทธนวราชบพิตร และพระพุทธรูปพิมพ์หรือพระกำลังแผ่นดินที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อจิตรลดา” 

*โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานกรรมการอำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนเสร็จสมบูรณ์งดงาม ทันงานฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี (เริ่มดำเนินการ พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึง พ.ศ.๒๕๒๕)  เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  ทั้งยังเสด็จพระราช-ดำเนินร่วมพิธีทางศาสนาตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ เนืองๆ

ปี พ.ศ.๒๕๒๘  ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก  ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จทันวันที่  ๕  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐  ในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ  ได้พิมพ์แล้วเสร็จทั้งฉบับบาลีและฉบับแปลเป็นภาษาไทย  ประเทศไทยมีการศึกษาพระไตรปิฏกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  และได้มีการแปลเป็นภาษาไทยบางส่วนสืบต่อมาโดยตลอด แต่การแปลมาแล้วเสร็จครบชุดในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้เอง  ทั้งต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๑  มหาวิทยาลัยมหดิลยังได้นำข้อความในพระไตรปิฎกรวมหลายสิบล้านตัวอักษรเป็นจำนวน  ๔๕  เล่ม   เข้าจานแม่เหล็กชนิดแข็ง(HARD  DISK)  เพื่อนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์  ให้สามารถเรียกคำไหน  ในเล่มใด  หน้าใดก็ได้มาปรากฎในจอภาพทันที  นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับคอมพิวเตอร์อันเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของประเทศไทย  ซึ่งก็ได้สำเร็จลงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน  

ต่อมายังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการเพิ่มข้อความภาษาบาลีในหนังสืออธิบายพระไตรปิฎกเรียกว่า “อรรถกถา”  และคำอธิบายอรรถกถาที่เรียกว่า “ฎีกา” รวมเป็นหนังสือทั้งสิ้น ๙๘ เล่ม  ให้สามารถเรียกข้อความที่ต้องการมาปรากฎในจอภาพ และพิมพ์ข้อความนั้นเป็นเอกสารได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที  ซึ่งงานนี้สำเร็จก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔  นับเป็นพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง  เป็นความสำเร็จที่มีคุณค่าสูงต่อการศึกษาค้นคว้าของวงวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั่วโลกทีเดียว  มิใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น 


------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลจาก บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท เรื่อง  “ในหลวงของเรา” ผลิตโดย งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ

- หนังสือพระมหาราชาผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม : ธรรมสภา
- หนังสือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับการศึกษาไทย :สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ : สำนักนายกรัฐมนตรี
- หนังสือข่าวสำนักข่าวไทย : ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๙
- บทความพิเศษเรื่องพระเจ้าอยู่หัวติดดินของดารี ข่มอาวุธ :นิตยสารกุลสตรี : ๒๕๔๗
- บทความพิเศษเรื่องปลาร้องไห้ ที่บ้านปาตาตีมอ ของพลากร สุวรรณรัฐ : นิตยสารสกุลไทย :๒๕๔๘

- http://www.oknation.net/blog/surasakc/2010/01/08/entry-1

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น