วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง


                   พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง
                                                         
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงเสนอแนวพระราชดำริเรื่อง“เศรษฐกิจพอเพียง”ซึ่งมีฐานมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการพึ่งตนเอง อตฺตา หิ อตฺตาโน นาโถ (ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน)
(พระเทพโสภณ. 2544 : 12)

         ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

         เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน “ทางสายกลาง” โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ “ความพอเพียง” หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และ
ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี เศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย โดยทำลายคนส่วนใหญ่ และทำลายฐานทรัพยากรทั้งหมดทำให้ไม่ยั่งยืนและวิฤกติ เป็นเศรษฐกิจฉกฉวยและเศรษฐกิจเทียม ที่สร้างปัญหาให้สังคมไทยนานัปประการ ควรจะใช้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแก้เพื่อปวงชน เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ทุกคนมีพออยู่พอกิน 
          เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง มีจิตใมจพอเพียง มีวิริยะ (ความเพียร) พอเพียง มีปัญญาพอเพียง มีวัฒนธรรมพอเพียง มีสิ่งแวดล้อมที่พอเพียง และมีความเอื้ออาทรต่อกันพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจที่บูรณาการ เป็นเศรษฐกิจแท้ที่ต้องเป็นไปเพื่อ “ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนแข้มแข็ง และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

          แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
          เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงและเกณฑ์คุณค่า 3 ประการคือ
ประการแรก สำนึกความเป็นชุมชนและสังคมหนึ่ง หมายความว่า ประเทศชาติมีคุณค่าและความหมายเป็นหน่วยชีวิต สังคมและการดำรงอยู่ คงอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และสันติสุขของมวลมนุษย์ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก ดังนั้นเศรษฐกิจจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมโดยรวม ไม่ใช่ควบคุมกลไกทั้งหมดของสังคม

ประการที่สอง ความประสานกลมกลืนของเสรีภาพกับความเป็นธรรมทางสังคม หมายความว่า จะต้องประสานหลักปฏิบัติเสรีภาพและประสิทธิภาพของกลไกเศรษฐกิจที่ว่านี้ ให้สอดคล้องต่อเกณฑ์คุณค่าและการดำรงอยู่ของชีวิต สังคม ที่เป็นอิสระเสรีมีเสถียรภาพและเป็นธรรม
.
ประการที่สาม คุณค่าศักยภาพพัฒนาตนเองของคนเรา หมายความว่า เราจะไม่ยึด “ระบบ” มากเกินไป แต่ยึดถือคนกับคุณค่าชีวิตและสังคมเป็นที่พึ่งมากกว่าการพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจ 

         หลักการทั้งสามนี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประกอบเป็นวิถีชีวิตอันเที่ยงธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกว่า “วิถีแห่งธรรม”นั่นคือการเสริมสร้างปลูกฝังวัฒนธรรมและวิถีการเรียนรู้ที่ “รู้จักพอ” ตามแนวของพระพุทธศาสนา



                                                        พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง

                                                 



การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ผ่านมาก่อให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิตสิ่งของเครื่องใช้เป็นจำนวนมาก มีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้วัตถุอำนวยความสะดวกสบาย และปรนเปรอความสุขของตน ก่อให้เกิดลัทธิ “วัตถุนิยม” ก่อให้เกิดหนี้สินจำนวนมากมาย ลัทธินี้เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในลักษณะที่ทำให้สังคมเป็น “สังคมบริโภคนิยม” ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากเพิ่มมากขึ้น ความเชื่อที่ว่าการส่งเสริมความสุข โดยการปรนเปรอทางวัตถุจึงเป็นการเพิ่ม “ความทุกข์” อย่างปฏิเสธไม่ได้แนวคิด “เศรษฐกิจเชิงพุทธ” จึงเป็นแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหา “ความทุกข์” ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้สอนหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมาย เช่น

1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน บางทีเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” โดยมีคำย่อคือ “อุ” “อา” “กะ” “สะ” ดังนี้คือ

1) อุฏฐานะสัมปทา (อุ) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

2) อารักขสัมปทา (อา) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษา สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

3) กัลยาณมิตตตา (กะ) หมายถึง การรู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้น ๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่าง ๆ ในการงาน ทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ถูกมิตรชั่วชักจูงไปในทางอบายมุข ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูนหรือมีแต่จะหดหายไป

4) สมชีวิตา (สะ) หมายถึง ความเป็นอยู่พอดี หรือความเป็นอยู่สมดุล คือเลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

2. โภคาวิภาค 4 เป็นวิธีการจัดสรรทรัพย์ในการใช้จ่าย โดยจัดสรรทรัพย์ออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้คือ

1) แบ่ง 1 ส่วน เพื่อใช้บริโภคเลี้ยงตนเองให้เป็นสุข เลี้ยงดูครอบครัว และคนที่อยู่ในความรับผิดชอบให้เป็นสุข และใช้ทำความดี บำเพ็ญประโยชน์แต่สาธารณะ เป็นต้น
2) แบ่ง 2 ส่วน เพื่อจัดสรรไว้สำหรับลงทุนประกอบกิจการงานต่าง ๆ
3) แบ่ง 1 ส่วน เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น

3. โภคอาทิยะ 5 คือ เมื่อมีทรัพย์สิน ควรนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย
1) ใช้จ่ายทรัพย์นั้นเลี้ยงตนเอง เลี้ยงดูครอบครัว มารดาบิดา ให้เป็นสุข
2) ใช้ทรัพย์นั้นบำรุงเลี้ยงมิตรสหาย ผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข
3) ใช้ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ
4) ทำพลี คือ การสละบำรุงสงเคราะห์ 5 อย่าง ได้แก่
ก. อติถิพลี ใช้ต้อนรับแขก คนที่ไปมาหาสู่ เป็นเรื่องของการปฏิสันถาร
ข. ญาติพลี ใช้สงเคราะห์ญาติ
ค. ราชพลี ใช้บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น
ง. เทวตาพลี บำรุงเทวดา คือสิ่งที่เคารพนับถือตามลัทธิความเชื่อหรือตามขนมธรรมเนียมของสังคม
จ. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการี ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ
5) บำรุงสมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ไม่ประมาทมัวเมา ผู้ที่จะดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม

4. กามโภคี หรือคนครองเรือน 10 ประเภท ในที่นี้จะแบ่งตามลักษณะการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ แยกประเภทคนครองเรือนตามลักษณะเด่นคือด้านที่หนึ่งดูจากการแสวงหาทรัพย์ว่าได้มาอย่างไรด้วยวิธีอย่างไรคือดูว่าคนนั้นแสวงหาทรัพย์มาโดยชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม โดยการกดขี่ข่มเหงคนอื่นหรือไม่

ด้านที่สอง พิจารณาในแง่การใช้จ่ายทรัพย์ว่า ใช้ให้เป็นประโยชน์และทำให้เกิดคุณประโยชน์ต่าง ๆ หรือไม่ เช่น ใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวให้เป็นสุข เผื่อแผ่แบ่งปันทำสิ่งดีงามมีคุณค่า บำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ 

ด้านที่สาม ดูที่สภาพจิตใจว่าเป็นอย่างไร คือดูว่า ในการเกี่ยวข้อง ครอบครอง ใช้จ่าย ปฏิบัติต่อทรัพย์สิน นั้นเขามีจิตใจหมกมุ่น มัวเมา กระวนกระวายใจ เป็นห่วงกังวล มีความทุกข์จากการมีทรัพย์ที่เรียกว่า เป็นทาสของทรัพย์ หรือมีจิตใจที่เป็นอิสระ เป็นนายของทรัพย์ อยู่โดยมีจิตใจที่เป็นสุข ใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ที่ควรใช้ และไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมานเพราะทรัพย์นั้น 

5. สุขของคฤหัสถ์ 4 คือ คนครองเรือนควรจะมีความสุข 4 ประการ ซึ่งคนครองเรือนควรจะพยายามให้เข้าถึงให้ได้ คือ

1) อัตถิสุข สุขเกิดจากการมีทรัพย์ เป็นหลักประกันของชีวิต โดยเฉพาะความอุ่นใจ ปลาบปลื้มภูมิใจว่าเรามีทรัพย์ที่หามาได้ด้วยกำลังของตนเอง
2) โภคสุข สุขเกิดจากการบริโภคทรัพย์ หรือใช้จ่ายทรัพย์ คือ รู้จักใช้จ่ายทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตน เลี้ยงดูบุคคลอื่น และทำประโยชน์สุขต่อผู้อื่นและสังคม เป็นต้น
3) อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นกังวลใจเพราะมีหนี้สินติดค้างใคร
4) อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ คือ มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่สุจริต ที่ใครจะว่ากล่าวติเตียนไม่ได้ มีความบริสุทธิ์ และมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของตน

6. อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ : ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนเป็นพุทธศาสนสุภาษิตที่มุ่งเน้นให้พึ่งตนเองในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ในการสร้างฐานะ และการเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้เพื่อ
จับจ่ายใช้สอยในยามจำเป็น นอกจากเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้วจะต้องเป็นที่พึ่งของบุคคลอื่นด้วย นอกจากในระดับบุคคลแล้ว ยังมุ่งเน้นให้การพัฒนาประเทศชาติให้พึ่งตนเองในลักษณะ “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นคือการพัฒนาที่ไม่อิงเศรษฐกิจโลกจนเกินไป

7. หลักสันโดษ เป็นความพอใจหรือความยินดีในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ หลักการนี้มุ่งให้บุคคลพึงพอใจในสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนเองได้มาและใช้จ่ายในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หลักสันโดษนี้มุ่งเน้นให้บุคคลรู้จักประมาณ ได้แก่ การประหยัดและรู้จักออม ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อมีความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบง่าย และโปร่งใส ไม่ทะเยอทะยานต่อสู้และเบียดเบียนบุคคลอื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

8.หลักสัปปุริสธรรม7 โดยเฉพาะในหลักของ“มัตตัญญุตา”คือรู้จักประมาณในการบริโภคการรู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์ซึ่งเป็นหลักให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง

9. การปฏิบัติตนในทางสายกลาง (มัชฌิมปฏิปทา) เป็นการรู้จักการดำเนินชีวิตให้เกิดความพอดี เป็นแนวทางของการแก้ทุกข์ที่เรียกว่า “อริยมรรคมีองค์ 8” โดยมุ่งเน้นให้มีความสุขกายและสุขใจไปด้วย
          กล่าวโดยสรุป คำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงนี้ มีจุดสนใจเบื้องแรกคือ จะทำอย่างไรให้คนทุกคนมีปัจจัยสี่พอเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพราะว่า ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไรต่อไป เพื่อความมีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่เป็นสุขนั้น ถ้าชีวิตขาดแคลนปัจจัยสี่เป็นฐานเบื้องต้นแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากสำหรับพระสงฆ์นั้น ชีวิตทางด้านเศรษฐกิจมีลักษณะพิเศษออกไปในแง่ที่ว่า พระสงฆ์ควรมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุขได้ด้วยปัจจัย
สี่ให้น้อยที่สุด เป็นตัวอย่างของคนที่จะมีปัจจัยสี่น้อยที่สุดก็มีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขได้สำหรับคนทั่วไป ท่านมุ่งให้มีปัจจัยสี่เป็นฐานเบื้องต้นในการดำเนินชีวิต เพราะคฤหัสถ์นั้นยังจำเป็นต้องพึ่งวัตถุและทรัพย์สินเงินทองไว้ใช้จ่ายอีกมาก เช่น การเลี้ยงดูตนเอง การเลี้ยงดูครอบครัว การช่วยเหลือสังคม การสงเคราะห์พระสงฆ์ เป็นต้น
สำหรับผู้บริหารประเทศ ยังมีภารกิจทางเศรษฐกิจต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจะจัดสรรให้คนทั่วไปมีปัจจัยสี่พอที่จะเป็นอยู่ได้ มีสัมมาชีพที่จะเลี้ยงตนเองและช่วยส่งเสริมจัดสภาพสังคม ให้เอื้อต่อการที่กิจกรรมในทางเศรษฐกิจของสังคมนั้นจะดำเนินไปได้ด้วยดีโดยราบรื่นไม่เกิดปัญหาการแย่งชิงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และไม่ให้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นนำมาซึ่งความไม่สงบสุข ความเดือดร้อนในสังคม แต่จัดสรรให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในสังคมและความเป็นอยู่ดีทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น เป็นปัจจัยเสริมเกื้อกูลแก่การพัฒนาศักยภาพของบุคคล
ให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา เพื่อความมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป




ที่มา:http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m3/Unit7/unit7-1.php


1 ความคิดเห็น: