วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง


                   พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง
                                                         
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงเสนอแนวพระราชดำริเรื่อง“เศรษฐกิจพอเพียง”ซึ่งมีฐานมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการพึ่งตนเอง อตฺตา หิ อตฺตาโน นาโถ (ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน)
(พระเทพโสภณ. 2544 : 12)

         ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

         เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน “ทางสายกลาง” โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ “ความพอเพียง” หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และ
ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี เศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย โดยทำลายคนส่วนใหญ่ และทำลายฐานทรัพยากรทั้งหมดทำให้ไม่ยั่งยืนและวิฤกติ เป็นเศรษฐกิจฉกฉวยและเศรษฐกิจเทียม ที่สร้างปัญหาให้สังคมไทยนานัปประการ ควรจะใช้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแก้เพื่อปวงชน เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ทุกคนมีพออยู่พอกิน 
          เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง มีจิตใมจพอเพียง มีวิริยะ (ความเพียร) พอเพียง มีปัญญาพอเพียง มีวัฒนธรรมพอเพียง มีสิ่งแวดล้อมที่พอเพียง และมีความเอื้ออาทรต่อกันพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจที่บูรณาการ เป็นเศรษฐกิจแท้ที่ต้องเป็นไปเพื่อ “ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนแข้มแข็ง และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

          แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
          เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงและเกณฑ์คุณค่า 3 ประการคือ
ประการแรก สำนึกความเป็นชุมชนและสังคมหนึ่ง หมายความว่า ประเทศชาติมีคุณค่าและความหมายเป็นหน่วยชีวิต สังคมและการดำรงอยู่ คงอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และสันติสุขของมวลมนุษย์ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก ดังนั้นเศรษฐกิจจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมโดยรวม ไม่ใช่ควบคุมกลไกทั้งหมดของสังคม

ประการที่สอง ความประสานกลมกลืนของเสรีภาพกับความเป็นธรรมทางสังคม หมายความว่า จะต้องประสานหลักปฏิบัติเสรีภาพและประสิทธิภาพของกลไกเศรษฐกิจที่ว่านี้ ให้สอดคล้องต่อเกณฑ์คุณค่าและการดำรงอยู่ของชีวิต สังคม ที่เป็นอิสระเสรีมีเสถียรภาพและเป็นธรรม
.
ประการที่สาม คุณค่าศักยภาพพัฒนาตนเองของคนเรา หมายความว่า เราจะไม่ยึด “ระบบ” มากเกินไป แต่ยึดถือคนกับคุณค่าชีวิตและสังคมเป็นที่พึ่งมากกว่าการพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจ 

         หลักการทั้งสามนี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประกอบเป็นวิถีชีวิตอันเที่ยงธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกว่า “วิถีแห่งธรรม”นั่นคือการเสริมสร้างปลูกฝังวัฒนธรรมและวิถีการเรียนรู้ที่ “รู้จักพอ” ตามแนวของพระพุทธศาสนา



                                                        พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง

                                                 



การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ผ่านมาก่อให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิตสิ่งของเครื่องใช้เป็นจำนวนมาก มีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้วัตถุอำนวยความสะดวกสบาย และปรนเปรอความสุขของตน ก่อให้เกิดลัทธิ “วัตถุนิยม” ก่อให้เกิดหนี้สินจำนวนมากมาย ลัทธินี้เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในลักษณะที่ทำให้สังคมเป็น “สังคมบริโภคนิยม” ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากเพิ่มมากขึ้น ความเชื่อที่ว่าการส่งเสริมความสุข โดยการปรนเปรอทางวัตถุจึงเป็นการเพิ่ม “ความทุกข์” อย่างปฏิเสธไม่ได้แนวคิด “เศรษฐกิจเชิงพุทธ” จึงเป็นแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหา “ความทุกข์” ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้สอนหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมาย เช่น

1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน บางทีเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” โดยมีคำย่อคือ “อุ” “อา” “กะ” “สะ” ดังนี้คือ

1) อุฏฐานะสัมปทา (อุ) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

2) อารักขสัมปทา (อา) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษา สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

3) กัลยาณมิตตตา (กะ) หมายถึง การรู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้น ๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่าง ๆ ในการงาน ทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ถูกมิตรชั่วชักจูงไปในทางอบายมุข ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูนหรือมีแต่จะหดหายไป

4) สมชีวิตา (สะ) หมายถึง ความเป็นอยู่พอดี หรือความเป็นอยู่สมดุล คือเลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

2. โภคาวิภาค 4 เป็นวิธีการจัดสรรทรัพย์ในการใช้จ่าย โดยจัดสรรทรัพย์ออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้คือ

1) แบ่ง 1 ส่วน เพื่อใช้บริโภคเลี้ยงตนเองให้เป็นสุข เลี้ยงดูครอบครัว และคนที่อยู่ในความรับผิดชอบให้เป็นสุข และใช้ทำความดี บำเพ็ญประโยชน์แต่สาธารณะ เป็นต้น
2) แบ่ง 2 ส่วน เพื่อจัดสรรไว้สำหรับลงทุนประกอบกิจการงานต่าง ๆ
3) แบ่ง 1 ส่วน เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น

3. โภคอาทิยะ 5 คือ เมื่อมีทรัพย์สิน ควรนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย
1) ใช้จ่ายทรัพย์นั้นเลี้ยงตนเอง เลี้ยงดูครอบครัว มารดาบิดา ให้เป็นสุข
2) ใช้ทรัพย์นั้นบำรุงเลี้ยงมิตรสหาย ผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข
3) ใช้ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ
4) ทำพลี คือ การสละบำรุงสงเคราะห์ 5 อย่าง ได้แก่
ก. อติถิพลี ใช้ต้อนรับแขก คนที่ไปมาหาสู่ เป็นเรื่องของการปฏิสันถาร
ข. ญาติพลี ใช้สงเคราะห์ญาติ
ค. ราชพลี ใช้บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น
ง. เทวตาพลี บำรุงเทวดา คือสิ่งที่เคารพนับถือตามลัทธิความเชื่อหรือตามขนมธรรมเนียมของสังคม
จ. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการี ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ
5) บำรุงสมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ไม่ประมาทมัวเมา ผู้ที่จะดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม

4. กามโภคี หรือคนครองเรือน 10 ประเภท ในที่นี้จะแบ่งตามลักษณะการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ แยกประเภทคนครองเรือนตามลักษณะเด่นคือด้านที่หนึ่งดูจากการแสวงหาทรัพย์ว่าได้มาอย่างไรด้วยวิธีอย่างไรคือดูว่าคนนั้นแสวงหาทรัพย์มาโดยชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม โดยการกดขี่ข่มเหงคนอื่นหรือไม่

ด้านที่สอง พิจารณาในแง่การใช้จ่ายทรัพย์ว่า ใช้ให้เป็นประโยชน์และทำให้เกิดคุณประโยชน์ต่าง ๆ หรือไม่ เช่น ใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวให้เป็นสุข เผื่อแผ่แบ่งปันทำสิ่งดีงามมีคุณค่า บำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ 

ด้านที่สาม ดูที่สภาพจิตใจว่าเป็นอย่างไร คือดูว่า ในการเกี่ยวข้อง ครอบครอง ใช้จ่าย ปฏิบัติต่อทรัพย์สิน นั้นเขามีจิตใจหมกมุ่น มัวเมา กระวนกระวายใจ เป็นห่วงกังวล มีความทุกข์จากการมีทรัพย์ที่เรียกว่า เป็นทาสของทรัพย์ หรือมีจิตใจที่เป็นอิสระ เป็นนายของทรัพย์ อยู่โดยมีจิตใจที่เป็นสุข ใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ที่ควรใช้ และไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมานเพราะทรัพย์นั้น 

5. สุขของคฤหัสถ์ 4 คือ คนครองเรือนควรจะมีความสุข 4 ประการ ซึ่งคนครองเรือนควรจะพยายามให้เข้าถึงให้ได้ คือ

1) อัตถิสุข สุขเกิดจากการมีทรัพย์ เป็นหลักประกันของชีวิต โดยเฉพาะความอุ่นใจ ปลาบปลื้มภูมิใจว่าเรามีทรัพย์ที่หามาได้ด้วยกำลังของตนเอง
2) โภคสุข สุขเกิดจากการบริโภคทรัพย์ หรือใช้จ่ายทรัพย์ คือ รู้จักใช้จ่ายทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตน เลี้ยงดูบุคคลอื่น และทำประโยชน์สุขต่อผู้อื่นและสังคม เป็นต้น
3) อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นกังวลใจเพราะมีหนี้สินติดค้างใคร
4) อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ คือ มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่สุจริต ที่ใครจะว่ากล่าวติเตียนไม่ได้ มีความบริสุทธิ์ และมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของตน

6. อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ : ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนเป็นพุทธศาสนสุภาษิตที่มุ่งเน้นให้พึ่งตนเองในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ในการสร้างฐานะ และการเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้เพื่อ
จับจ่ายใช้สอยในยามจำเป็น นอกจากเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้วจะต้องเป็นที่พึ่งของบุคคลอื่นด้วย นอกจากในระดับบุคคลแล้ว ยังมุ่งเน้นให้การพัฒนาประเทศชาติให้พึ่งตนเองในลักษณะ “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นคือการพัฒนาที่ไม่อิงเศรษฐกิจโลกจนเกินไป

7. หลักสันโดษ เป็นความพอใจหรือความยินดีในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ หลักการนี้มุ่งให้บุคคลพึงพอใจในสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนเองได้มาและใช้จ่ายในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หลักสันโดษนี้มุ่งเน้นให้บุคคลรู้จักประมาณ ได้แก่ การประหยัดและรู้จักออม ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อมีความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบง่าย และโปร่งใส ไม่ทะเยอทะยานต่อสู้และเบียดเบียนบุคคลอื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

8.หลักสัปปุริสธรรม7 โดยเฉพาะในหลักของ“มัตตัญญุตา”คือรู้จักประมาณในการบริโภคการรู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์ซึ่งเป็นหลักให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง

9. การปฏิบัติตนในทางสายกลาง (มัชฌิมปฏิปทา) เป็นการรู้จักการดำเนินชีวิตให้เกิดความพอดี เป็นแนวทางของการแก้ทุกข์ที่เรียกว่า “อริยมรรคมีองค์ 8” โดยมุ่งเน้นให้มีความสุขกายและสุขใจไปด้วย
          กล่าวโดยสรุป คำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงนี้ มีจุดสนใจเบื้องแรกคือ จะทำอย่างไรให้คนทุกคนมีปัจจัยสี่พอเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพราะว่า ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไรต่อไป เพื่อความมีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่เป็นสุขนั้น ถ้าชีวิตขาดแคลนปัจจัยสี่เป็นฐานเบื้องต้นแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากสำหรับพระสงฆ์นั้น ชีวิตทางด้านเศรษฐกิจมีลักษณะพิเศษออกไปในแง่ที่ว่า พระสงฆ์ควรมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุขได้ด้วยปัจจัย
สี่ให้น้อยที่สุด เป็นตัวอย่างของคนที่จะมีปัจจัยสี่น้อยที่สุดก็มีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขได้สำหรับคนทั่วไป ท่านมุ่งให้มีปัจจัยสี่เป็นฐานเบื้องต้นในการดำเนินชีวิต เพราะคฤหัสถ์นั้นยังจำเป็นต้องพึ่งวัตถุและทรัพย์สินเงินทองไว้ใช้จ่ายอีกมาก เช่น การเลี้ยงดูตนเอง การเลี้ยงดูครอบครัว การช่วยเหลือสังคม การสงเคราะห์พระสงฆ์ เป็นต้น
สำหรับผู้บริหารประเทศ ยังมีภารกิจทางเศรษฐกิจต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจะจัดสรรให้คนทั่วไปมีปัจจัยสี่พอที่จะเป็นอยู่ได้ มีสัมมาชีพที่จะเลี้ยงตนเองและช่วยส่งเสริมจัดสภาพสังคม ให้เอื้อต่อการที่กิจกรรมในทางเศรษฐกิจของสังคมนั้นจะดำเนินไปได้ด้วยดีโดยราบรื่นไม่เกิดปัญหาการแย่งชิงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และไม่ให้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นนำมาซึ่งความไม่สงบสุข ความเดือดร้อนในสังคม แต่จัดสรรให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในสังคมและความเป็นอยู่ดีทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น เป็นปัจจัยเสริมเกื้อกูลแก่การพัฒนาศักยภาพของบุคคล
ให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา เพื่อความมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป




ที่มา:http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m3/Unit7/unit7-1.php


แก้ปัญหาชีวิตด้วยหลักธรรม


แก้ปัญหาชีวิตด้วยหลักธรรม


ปัญหาชีวิตเกิดขึ้นได้ ๒ ทาง คือ

๑. ปัญหาชีวิตเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น เมื่อเศรษฐกิจทรงตัวหรือซบเซา ทำให้รายได้ของเราลดน้อยลง ยามเศรษฐกิจเฟื่องฟูทำให้รายได้เพิ่มมากกว่าเดิม เศรษฐกิจไม่ดีนักจะมีการจี้การปล้นการลักขโมยมากกว่าปกติ ซึ่งก็มีผลกระทบด้านความปลอดภัยต่อชีวิตเรา ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างปัญหาชีวิตที่เกิดจากปัจจัยภายนอก
๒. ปัญหาชีวิตเกิดจากปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในคือตัวเราเอง สิ่งที่ทำให้ตัวเราเองเกิดปัญหา คือ กิเลส ซึ่งมีกิเลสตัวใหญ่หรือตัวสำคัญ ๓ ตัว

กิเลสตัวแรก โลภะ ความอยากได้ อยากมี ความอยากเป็น มากขึ้นกว่าเดิมเมื่อมีความโลภก็ต้องดิ้นรนแสวงหาต่อไปไม่สิ้นสุด ไม่มีวันจบสิ้น ต้องเหนื่อยยากลำบากตลอดกาล บางคนแสวงหาด้วยวิธีสุจริตไม่ได้ผล เลยแสวงหาด้วยวิธีทุจริตก็มี จึงหาความสงบสุขในชีวิตไม่ได้ จนกว่าเราจะลดความโลภลงได้จึงจะพบความสงบสุข

กิเลสตัวที่สอง โทสะ ความโกรธ ความคิดประทุษร้ายคนอื่น ความอาฆาตพยาบาทคนอื่น ความปองร้ายคนอื่น การอยู่ร่วมกันย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเหมือนลิ้นกับฟัน เราต้องให้อภัยซึ่งกันและกัน เพราะส่วนมากคนเราจะไม่มีเจตนาในการทำความชั่ว ไม่ตั้งใจทำความผิดพลาด ทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดกันได้ เหมือนสุภาษิตที่ว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง มีสองขาโด่เด่คงต้องโซเซไปบ้าง เราต้องให้โอกาสแก่คนอื่น หากเป็นผู้บังคับบัญชาต้องแนะนำตักเตือน เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ต้องสั่งสอน

ตัวที่สาม โมหะ ความเขลา ความไม่รู้ รู้ไม่แจ่มชัด ภาษาพระรู้ไม่จริง รู้ไม่ชัด รู้ไม่แจ้ง หรือเข้าใจไม่ชัดแจ้งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าไม่ฉลาด ความเขลา ความไม่ฉลาดเป็นปัญหาต่อชีวิตคนเรามาก ถ้าแก้ไม่หาย ชีวิตนี้อาจไม่พบความสุขความเจริญก้าวหน้าเลย เป็นผู้ที่ต้องปรับปรุงพัฒนาตัวเองมาก

การแก้ปัญหาชีวิตด้วยธรรมะตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้แก้ปัญหาชีวิตดังนี้

แก้โลภะ ความโลภด้วยการให้บริจาค การรู้จักแบ่งปันสิ่งของให้แก่บุคคลอื่น เป็นการแบ่งความสุขให้แก่คนอื่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เนกาสี ลัภเต สุขัง การบริโภคคนเดียวไม่มีความสุข หมายความว่า การทำให้ตนมีความสุขคนเดียว ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง การแบ่งความสุขให้คนอื่นเสวยสุขด้วยจึงเป็นความสุขที่แท้จริง นอกจากนี้การให้เป็นการลดกิเลสคือความโลภให้น้อยลง เมื่อกิเลสคือความโลภน้อยลง ความทุกข์ในก็ลดลง ปัญหาชีวิตก็จะลดลง มีปัญหาชีวิตน้อยลง ความสุขก็จะเกิดขึ้น

แก้โทสะ ความโกรธด้วยเมตตา คิดช่วยให้คนอื่นมีความสุข ปรารถนาดีต่อคนอื่น มองคนอื่นในแง่ดี เราควรคิดเสมอว่าไม่มีใครทำถูกทุกอย่างโดยไม่ผิดพลาด คนที่ทำอะไรไม่ผิดพลาดคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย ฉะนั้น เมื่อมีการทำงานก็ต้องมีความผิดพลาด เราควรให้อภัยซึ่งกันและกัน คนขี้โกรธ ขี้อิจฉาริษยา ชอบมองคนอื่นในแง่ร้าย มองไม่เห็นคุณงามความดีของคนอื่น พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนคนมีไฟอยู่ในหัวใจ โดยตรัสเป็นภาษาบาลีว่า โทสัคคิ กิเลสตัวโทสะนี้ทำให้เราร้อนรุ่มอยู่ตลอดเวลา บางคนมองคนอื่นว่าเป็นศัตรูไปหมด หรือมองเห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่น การกระทำของตนถูกคนเดียว อยู่ร่วมกับใครทำงานกับใครไม่ค่อยได้ ไม่มีความสุขในการทำงาน หากสร้างเมตตาจิตให้เกิดขึ้นได้ จะอยู่ที่ไหน จะทำอะไร จะอยู่ร่วมกับใครก็จะมีแต่ความสุข เพราะเอาชนะโทสะได้

แก้โมหะ ความเขลาความไม่ฉลาดด้วยการเจริญจิตภาวนา ปฏิบัติธรรมกรรมฐานหรือการฝึกสมาธิ ท่านที่ฝึกสมาธิเป็นประจำจะได้รับผล ๓ อย่าง คือ ได้สติ สมาธิ ปัญญา สิ่งแรกที่เราได้จากการฝึกสมาธิคือตัวสติ เป็นคนมีสติ ไม่หลงไม่ลืมง่าย อยากทราบเรื่องอะไรระลึกได้เสมอ ที่สำคัญคือเราเป็นคนรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรากำลังทำอะไร ต่อมาเกิดสมาธิ มีความตั้งใจแน่วแน่ในสิ่งที่กำลังทำอยู่แล้วเกิดปัญญาว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นผิดหรือถูก เพราะฉะนั้นการฝึกสมาธิทำให้เกิดสติปัญญา คนมีสติปัญญาย่อมไม่โง่เขลา ย่อมแก้ไขปัญหาชีวิตได้ แก้โมหะด้วยการฝึกสมาธิหรือเจริญภาวนา จึงเป็นการแก้กิเลสตัวโมหะที่ถูกวิธีและได้ผล

การแก้ปัญหาชีวิตด้วยธรรมะอีกนัยหนึ่งคือ แก้ด้วยหลักศีล แก้ด้วยหลักสมาธิ แก้ด้วยหลักปัญญา
การแก้ปัญหาชีวิตด้วยหลักศีลคือ เอาศีล ๕ มาช่วยตัดสินปัญหา ไม่ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา ยามโกรธยามทะเลาะกับคนอื่นก็ไม่ทำร้ายเขา พยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ยามยากจนก็ไม่ลักขโมยสิ่งของคนอื่นมาเลี้ยงชีพ หรือไม่โกหกหลอกลวงคนอื่น ที่สำคัญคือ ไม่แก้ปัญหาชีวิตด้วยการดื่มสุรา ซึ่งมีหลายท่านชอบแก้ปัญหาชีวิตด้วยสุรา เสียใจดื่มเหล้า จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนเมาเหล้าคือคนขาดสติ เมื่อขาดสติ สมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิด ไม่มีสติปัญญาก็แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ ต้องแก้ด้วยหลักศีลคือไม่ดื่มเหล้า จะได้มีสติปัญญาไปแก้ปัญหาชีวิต

แก้ปัญหาชีวิตด้วยหลักสมาธิคือ การทำอะไรก็ตั้งใจทำ แน่วแน่ เที่ยงแท้ ไม่มีความลังเลสงสัย มีจิตใจที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรเปลี่ยนง่ายๆ ไม่โลเลเหลวไหลเป็นไม้หลักปักเลน ทำอะไรทำจริง ไม่นิ่งนอนใจ ที่กล่าวมานี้เป็นผลของการฝึกทำสมาธิทั้งสิ้น คนที่ฝึกสมาธิเป็นประจำจะเป็นคนลักษณะนี้ สมาธิจึงสามารถช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้มาก เพราะคนไม่มีสมาธิหรือคนไม่เคยฝึกสมาธิจะเป็นคนเปลี่ยนใจง่าย ไม่มั่นคง เป็นคนลังเล บางครั้งก็เหลวไหล นิสัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ สมาธิจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อการแก้ปัญหาชีวิต

การแก้ปัญหาชีวิตด้วยปัญญา ปัญญานั้นมี ๓ ระดับ คือ 

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การได้ยินได้ฟังมามาก จากประสบการณ์ชีวิต
๒. จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากความคิด การใช้วิจารณญาณเรื่องที่พบเห็น
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฝึกฝน การฟังบ่อยๆ การทำให้ชำนาญ หรือการฝึกฝนอบรมจนชำนาญ การทำบ่อยๆ จนเกิดผลปรากฎ เป็นปัญญาความรู้ที่เกิดจากการทดลองหรือผ่านการพิสูจน์มแล้ว

ปัญญาที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหมายถึงปัญญาข้อ ๓ ปัญหาที่เกิดจากการทดลองหรือผ่านการพิสูจน์มาแล้ว เป็นปัญญาที่เกิดต่อจากการฝึกสมาธินั่งเอง เพราะก่อนที่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้เราต้องฝึกสมาธิจนชำนาญหรือได้ผลเสียก่อน การฝึกสมาธินั้นจะเกิดผลตามลำดับดังกล่าวมาแล้ว แต่ขอกล่าวซ้ำอีกคือ

อันดับแรกจะเกิดสติ มีสติดี สติไม่ขาด เมื่อสติไม่ขาด สมาธิจะเกิดขึ้น ครั้นสมาธิมีกำลังมากขึ้นจนจิตสงบปัญญาก็จะเกิด ขณะที่จิตสงบ เราสามารถจะคิดค้นหรือคิดแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ผลดีกว่าขณะที่จิตไม่สงบ ถ้าจิตไม่สงบมักจะคิดไม่ออกหรือคิดแก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ เรียกตามภาษาพระว่า ปัญญาไม่เกิด เพราะฉะนั้นปัญญาความรู้ความคิดดีๆ จะเกิดขึ้นหลังจากจิตเป็นสมาธิ คนที่จิตมีสมาธิจึงเป็นคนมีเหตุมีผล มีหลักการ มีหลักเกณฑ์ ยึดความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ เรียกว่ามีปัญญา

เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญหาชีวิตหรืออุปสรรคชีวิตเกิดขึ้น เขาย่อมสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ดีกว่าคนอื่น และการแก้ปัญหาด้วย ปัญญานั้นทางพระพุทธศาสนายึดหลักการที่ว่า

“ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมมีสาเหตุหรือต้นเหตุ เราต้องค้นหาต้นเหตุของปัญหานั้นให้พบ แล้วแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้องและถูกจุด”

เป็นลักษณะของการแก้ปัญหาแบบอริยสัจ ๔ เป็นคุณธรรมระดับปัญญา คือศึกษาให้รู้ข้อมูลและต้นเหตุแห่งทุกข์เสียก่อน จึงจะรู้วิธีดับทุกข์ คือดับที่ต้นเหตุของมันจึงจะพ้นทุกข์

การแก้ปัญหาแบบอริยสัจ ๔ สามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ลักษณะนี้เป็นการแก้ปัญหาด้วยปัญญา

สัจธรรมหรือความจริงอันประเสริฐประการแรก ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบจากการตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ คือ ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ไม่มีมนุษย์หรือว่าสัตว์เหล่าใดเลยที่จะพบกับความสุขล้วนๆ เพียงอย่างเดียว ความทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่เว้นใครแม้แต่คนเดียว จะต่างกันที่ทุกข์มากหรือน้อยเท่านั้นเอง สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ต้องเป็นทุกข์เกิดมาจาก กิเลสที่แอบแฝงติดอยู่ในใจเราตั้งแต่ปฎิสนธิในครรภ์มารดานั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่กิเลสมีอำนาจเหนื่อจิตใจมนุษย์ ก็จะบังคับให้เขาคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี ผลของการประกอบกรรมชั่วดังกล่าวก็คือความทุกข์ทรมานในรูปแบบต่างๆ ซึงเป็นไปตามกฎแห่งกรรมคนเราโดยทั่วไปมักไม่ทราบความจริงของชีวิตเหล่านี้เลย จึงพยายามดิ้นรนแสวงหาความสุขโดยการดับทุกข์ให้แก่ตนเองด้วยวิธีการผิดๆ ซึ่งรังแต่จะสร้างวิบากกรรมเพิ่มขึ้นมาอีก เรียกว่าเป็นการดับทุกข์เก่า ด้วยการสร้างทุกข์ใหม่ให้กับชีวิตของเราเอง ด้วยเหตุนี้เองกงล้อความทุกข์จึงดำเนินไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดเพราะวิิบากกรรมชั่ว ที่ตนกระทำไว้เรื่อยไปโดยที่ไม่มีโอกาสล่วงรู้สาเหตุที่แท้จริงแห่งความทุกข์เลย

ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องให้หมดทุกข์ และเป็นปัจเจกบุคคลที่ต้องเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เหมือนที่พระองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองมาแล้ว ดังนั้นขอให้ทุกท่านได้เรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนแล้วทุกท่านจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง

ธรรมะ สร้างทางสว่างแห่งความสำเร็จในชีวิตและทางแห่งการพ้นทุกข์ ให้กับผู้ที่ศรัทธานั้นก็
คือ ตัวเราเอง นั้นเอง




ที่มา:http://www.baanmaha.com/community/thread35867.html

หลักธรรมนำชีวิต


หลักธรรมนำชีวิต


อบายมุข 4 
    อบายมุข ทางแห่งความเสื่อม ( อบาย = เสื่อม ไม่เจริญ + มุข = ทางหรือปากทาง ) โดยพิสดารมี 6 โดยย่อมี 4 ในที่นี้กล่าวถึง 4 ประการ คือ
            1. เป็นนักเลงหญิง  ผู้ที่ทำอะไรเป็นประจำหรือทำบ่อยๆ ผู้นิยมชมชอบในทางนั้นๆ เช่น นักเลงกลอน นักเลงการพนัน นักเลงหญิง นักเลงหญิง หมายถึง ชายที่นิยมชมชอบ หรือพอใจในการคลุกคลีกับหญิง คบผู้หญิงโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร สำส่อนกับผู้หญิงทุกจำพวก
            2. เป็นนักเลงสุรา  สิ่งของมึนเมาหรือสิ่งเสพย์ติดต่างๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา บุหรี่ เหล้า เบียร์  สิ่งเสพย์ติดเหล่านี้จะทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโตยังจะเป็นบ่อเกิดแห่งโรคต่างๆ อีกมากมาย
            3. เป็นนักเลงการพนัน  การพนันมีหลายประเภทและสามารถพนันกันได้ทุกอย่างสำหรับผู้ชอบการพนัน เช่น โป ถั่ว ไพ่ ชนไก่ กัดปลา ม้า มวย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เสียเวลาในการทำมาหากินโดยสุจริต เบียดเบียนตนและผู้อื่น สร้างนิสัยให้เป็นคนมักได้ไม่ปรารถนาลงทุนลงแรงทำงานให้เป็นล่ำเป็นสัน อันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
            4. คบคนชั่วเป็นมิตร   เพราะคนชั่วย่อมชักนำไปในทางที่ชั่ว เช่นชักชวนเป็นนักเลงประเภทต่างๆ คือ นักเลงหญิง นักเลงสุรา นักเลงพนัน นักเลงหัวไม้ เหล่านี้แต่ละอย่างล้วนเป็นปากทางแห่งความเสื่อมทั้งสิ้น สุภาษิตโบราณท่านว่า คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว คบคนชั่วอัปราชัย

ขันติโสรัจจะ
ขันติและโสรัจจะ  เป็นหลักธรรมอันทำให้บุคคลเป็นผู้งาม  (ธรรมทำให้งาม)
         1.  ขันติ  คือ  ความอดทน  มีลักษณะ 3  ประการ
                    1.1   อดใจทนได้ต่อกำลังแห่งความโกรธแค้นไม่แสดงอาการ กาย  วาจา  ที่ไม่น่ารัก
                         ออกมาให้เป็นที่ปรากฏแก่ผู้อื่น
                    1.2   อดใจทนได้ต่อความลำบากตรากตรำหรือความเหน็ดเหนื่อย
       2.  โสรัจจะ  ความสงบเสงี่ยม  ทำจิตใจให้แช่มชื่นไม่ขุนหมอง
สติสัมปชัญญะ
สติสัมปชัญญะ  เป็นหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์แก่ผู้ประพฤติเป็นอันมาก

        1.สติ               คือ  ความระลึกได้ก่อนทำ  ก่อนบูชา  ก่อนคัด  คนมีสติจะไม่เลินเล่อ  เผลอตน

        2.สัมปชัญญะ  คือ  ความรู้ตัวในเวลากำลังทำ  กำลังพูด  กำลังคิด

หิริโอตัปปะ
      หิริ ความละอายต่อบาปกรรมที่ตนกระทำนั้นยิ่งกว่าคนที่เป็นโรคร้ายแต่งตัวเรียบร้อยเข้าไปในที่สาธารณะ ย่อมมีความละอายแก่ใจตนเสมอ คนอื่นจะรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม แต่ใจของตนรู้เห็นด้วยใจตนเองอยู่ตลอดเวลา
    โอตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปกรรมที่ตนกระทำด้วยกาย วาจา และใจ อันจะเกิดมีขึ้นแก่ตน กลัวยิ่งกว่าเห็นอสรพิษ ย่อมไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้ ความกลัวบาปที่เห็นด้วยใจ และกลัวด้วยใจนั้น ย่อมสะดุ้งหวาดเสียวอยู่เป็นนิจ เหมือนเป็นแผลที่หัวใจ ใครจะเจ็บปวดด้วยหรือไม่ก็ตาม ผู้นั้นย่อมเจ็บปวดอยู่คนเดียว ความละอายและความกลัวเหล่านี้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ละอายและกลัวบาปกรรมที่ละเมิดล่วงเกินศีลข้อนั้น ๆ เมื่อมีความละอายและความกลัวบาปกรรมอยู่อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมมีสติระวังตัวอยู่ทุกเมื่อ แล้วมันจะล่วงละเมิดศีลข้อนั้น ๆ ได้อย่างไร

จักร 4
       จักร 4 หลักธรรม 4 ประการที่นำบุคคลไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย
1. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม
2. สัปปุริสูปสังเสวะ หมายถึง การคบสัตบุรุษ การเข้าไปคบกับคนดี ผู้มีสัปปุริสธรรม7
3. อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งอยู่ในสุจริต 3 ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
4. ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน

1. ปฏิรูปเทสวาสะ แปลว่า การอยู่ในประเทศอันสมควร หมายถึง การอยู่ในท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องกระทำ เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ การปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นต้น ผู้ต้องการศึกษาวิชาการสาขาใด ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีความพร้อมทุกๆ ด้าน เช่น ครู อาจารย์ ตำราเรียน การคมนาคมสะดวก และสิ่งอื่นๆ ที่จะอำนวยให้การเรียนมีประสิทธิภาพ ผู้ต้องการประกอบอาชีพเพาะปลูก ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีพื้นดินดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชนั้นๆ ผู้ต้องการประกอบอาชีพค้าขาย ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีประชากรหนาแน่น มีสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมสะดวก ผู้ต้องการปฏิบัติธรรม ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีพระสงฆ์ผู้รู้ธรรมและเคร่งครัดในพระวินัย มีผู้สนใจปฏิบัติธรรมกันมาก ส่วนภิกษุผู้ต้องการบำเพ็ญสมณธรรม คือเจริญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไปในที่อันเหมาะสม คือ ป่า โคนไม้ กระท่อมร้าง เป็นต้น ที่กล่าวข้างต้น หมายถึง ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ แต่ความหมายโดยตรงของจักรข้อที่ ๑ ได้แก่ การอยู่ในท้องถิ่นที่สามารถศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้ดี คือ ท้องถิ่นที่มีคนดีผู้รู้ธรรม

2. สัปปุริสูสังเสวะ (การเข้าไปคบหาคนดี) แปลว่า การคบสัตบุรุษ สัตบุรุษ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า คนดี คนสงบ ตรงกับภาษาบาลีว่า สัปปุริสะ ผู้ที่เป็นสัตบุรุษหรือสัปปุริสะ ย่อมมีสัปปุริสธรรม 7 ประการประจำตน ได้แก่

      1. รู้เหตุ         2. รู้ผล  

      3. รู้ตน          4. รู้ประมาณ

      5. รู้กาล         6. รู้ชุมชน

      7. รู้บุคคล การเข้าไปคบหา ได้แก่ การเข้าไปสนทนาไต่ถาม มอบตัวเป็นศิษย์ รับโอวาทของสัตบุรุษ เมื่ออยู่ในท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษ คือ คนดีตามจักรข้อ 1 แล้ว ก็เข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษนั้น เป็นจักรข้อที่ 2 สัตบุรุษย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้จักเว้นชั่วประพฤติดี ละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว

3. อัตตสัมมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ) แปลว่า การตั้งตนไว้ชอบ ตน หมายถึง ร่างกายและจิตใจ การตั้งตนไว้ชอบจึงหมายถึง การตั้งอยู่ในสุจริต 3 คือ
       •  กายสุจริต ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม
       •  วจีสุจริต ได้แก่ การไม่พูดเท็จ การไม่พูดส่อเสียด การไม่พูดคำหยาบ การไม่พูดเพ้อเจ้อ
       •  มโนสุจริต ได้แก่ การไม่อยากได้ของผู้อื่น การไม่คิดพยาบาทผู้อื่น การเห็นชอบตามคลองธรรม อีกนัยหนึ่ง หมายถึง
       •  การตั้งอยู่ในประโยชน์ปัจจุบัน ได้แก่ การหมั่นหาทรัพย์ การรักษาทรัพย์ไว้ การมีเพื่อนดี การเลี้ยงชีวิตพอเหมาะพอดี
       •  การตั้งอยู่ในประโยชน์ในอนาคต ได้แก่ ความสมบูรณ์ด้วยศรัทธา ความสมบูรณ์ด้วยศีล ความสมบูรณ์ด้วยจาคะ ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เมื่อเข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และสัตบุรุษแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำตามจักรข้อที่ 2 แล้ว ผู้เข้าไปคบหาสัตบุรุษนั้น ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของสัตบุรุษ ย่อมเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบ

4. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน) แปลว่า ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน หมายความว่า ได้ทำบุญไว้ในอดีต บุญนั้น
       •  กล่าวโดยเหตุ ได้แก่ กุศลกรรมหรือความดี
       •  กล่าวโดยผล ได้แก่ ความสุข มีความหมายว่า 
       คนทำความดีในอดีตย่อมได้รับความสุขในปัจจุบัน
       ทำความดีในปัจจุบันย่อมได้รับความสุขในอนาคต และผู้ที่ทำบุญหรือกระทำความดีนั้นยังได้รับความสุข ได้รับผลดีตอบแทนในขณะที่ทำนั้นด้วยความปิติยินดี ความสุขใจสบายใจที่ได้กระทำความดี การได้รับคำยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม การได้รับการปฏิบัติตอบที่ดี ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน อุปมาด้วยการเรียนหนังสือจนสำเร็จ ได้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร อันเป็นเครื่องแสดงคุณวุฒิให้เข้าทำงานได้ เมื่อทำงานเจริญก้าวหน้า มีตำแหน่งสูงขึ้น มีหลักฐานมั่นคง ก็ได้รับความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ ความสุขนั้นเป็นผลของความดี คือการเรียนหนังสือที่ได้กระทำไว้ในอดีต สำหรับความสุขที่ได้รับตามจักรข้อ 4 นี้ เกิดจากการตั้งตนไว้ชอบตามจักรข้อ 3 จักร 4 มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ข้อแรกๆ เป็นเหตุให้เกิดข้อหลังๆ กล่าวคือ การอยู่ในประเทศอันสมควร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษเป็นให้คบกับท่าน การคบกับสัตบุรุษเป็นเหตุให้ได้ฟัง ได้ศึกษา รู้จักบาปบุญ และละบาปบำเพ็ญบุญเป็นการตั้งตนไว้ชอบ ซึ่งจะได้รับความสุขอันเป็นผลของบุญในกาลต่อมา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้ทำบุญไว้แล้วในกาลก่อน

สัปปุริสธรรม  7

สัปปุริสธรรม 7 ธรรมของคนดี ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี

1. ธัมมัญญุตา = รู้จักเหตุ
         ความรู้จักธรรม หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล รู้จักวิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล อาทิ นักเรียนรู้ว่าจะเรียนอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้น เป็นต้น 
2. อัตถัญญุตา = รู้จักผล
         ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น
3. อัตตัญญุตา = รู้จักตน
         ความรู้จักตน คือ รู้ว่าตัว เรานั้น ว่ามีสถานภาพเป็นอะไร ฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น ว่าขณะนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป 
4. มัตตัญญุตา = รู้จักประมาณ
         ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ นักเรียนรู้จักประมาณ กำลังของตนเองในการทำงาน รัฐบาลรู้จักประมาณการเก็บภาษีและการใช้งบประมาณในการบริหารประเทศ เป็นต้น
5. กาลัญญุตา = รู้จักกาล
         ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น 
6. ปริสัญญุตา = รู้จักชุมชน
         ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักกลุ่มบุคคล รู้จักหมู่คณะ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา ต้องทำกิริยาหรือปฏิบัติแบบนี้ จะต้องพูดอย่างไร ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างไร เป็นต้น 
7. ปุคคลปโรปรัญญุตา = รู้จักบุคคล
          ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า มีอัธยาศัย มีความสามารถ มีคุณธรรม เป็นต้น ผู้ใดหยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ หรือยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น