วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หลักธรรมนำชีวิต


หลักธรรมนำชีวิต


อบายมุข 4 
    อบายมุข ทางแห่งความเสื่อม ( อบาย = เสื่อม ไม่เจริญ + มุข = ทางหรือปากทาง ) โดยพิสดารมี 6 โดยย่อมี 4 ในที่นี้กล่าวถึง 4 ประการ คือ
            1. เป็นนักเลงหญิง  ผู้ที่ทำอะไรเป็นประจำหรือทำบ่อยๆ ผู้นิยมชมชอบในทางนั้นๆ เช่น นักเลงกลอน นักเลงการพนัน นักเลงหญิง นักเลงหญิง หมายถึง ชายที่นิยมชมชอบ หรือพอใจในการคลุกคลีกับหญิง คบผู้หญิงโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร สำส่อนกับผู้หญิงทุกจำพวก
            2. เป็นนักเลงสุรา  สิ่งของมึนเมาหรือสิ่งเสพย์ติดต่างๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา บุหรี่ เหล้า เบียร์  สิ่งเสพย์ติดเหล่านี้จะทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโตยังจะเป็นบ่อเกิดแห่งโรคต่างๆ อีกมากมาย
            3. เป็นนักเลงการพนัน  การพนันมีหลายประเภทและสามารถพนันกันได้ทุกอย่างสำหรับผู้ชอบการพนัน เช่น โป ถั่ว ไพ่ ชนไก่ กัดปลา ม้า มวย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เสียเวลาในการทำมาหากินโดยสุจริต เบียดเบียนตนและผู้อื่น สร้างนิสัยให้เป็นคนมักได้ไม่ปรารถนาลงทุนลงแรงทำงานให้เป็นล่ำเป็นสัน อันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
            4. คบคนชั่วเป็นมิตร   เพราะคนชั่วย่อมชักนำไปในทางที่ชั่ว เช่นชักชวนเป็นนักเลงประเภทต่างๆ คือ นักเลงหญิง นักเลงสุรา นักเลงพนัน นักเลงหัวไม้ เหล่านี้แต่ละอย่างล้วนเป็นปากทางแห่งความเสื่อมทั้งสิ้น สุภาษิตโบราณท่านว่า คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว คบคนชั่วอัปราชัย

ขันติโสรัจจะ
ขันติและโสรัจจะ  เป็นหลักธรรมอันทำให้บุคคลเป็นผู้งาม  (ธรรมทำให้งาม)
         1.  ขันติ  คือ  ความอดทน  มีลักษณะ 3  ประการ
                    1.1   อดใจทนได้ต่อกำลังแห่งความโกรธแค้นไม่แสดงอาการ กาย  วาจา  ที่ไม่น่ารัก
                         ออกมาให้เป็นที่ปรากฏแก่ผู้อื่น
                    1.2   อดใจทนได้ต่อความลำบากตรากตรำหรือความเหน็ดเหนื่อย
       2.  โสรัจจะ  ความสงบเสงี่ยม  ทำจิตใจให้แช่มชื่นไม่ขุนหมอง
สติสัมปชัญญะ
สติสัมปชัญญะ  เป็นหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์แก่ผู้ประพฤติเป็นอันมาก

        1.สติ               คือ  ความระลึกได้ก่อนทำ  ก่อนบูชา  ก่อนคัด  คนมีสติจะไม่เลินเล่อ  เผลอตน

        2.สัมปชัญญะ  คือ  ความรู้ตัวในเวลากำลังทำ  กำลังพูด  กำลังคิด

หิริโอตัปปะ
      หิริ ความละอายต่อบาปกรรมที่ตนกระทำนั้นยิ่งกว่าคนที่เป็นโรคร้ายแต่งตัวเรียบร้อยเข้าไปในที่สาธารณะ ย่อมมีความละอายแก่ใจตนเสมอ คนอื่นจะรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม แต่ใจของตนรู้เห็นด้วยใจตนเองอยู่ตลอดเวลา
    โอตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปกรรมที่ตนกระทำด้วยกาย วาจา และใจ อันจะเกิดมีขึ้นแก่ตน กลัวยิ่งกว่าเห็นอสรพิษ ย่อมไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้ ความกลัวบาปที่เห็นด้วยใจ และกลัวด้วยใจนั้น ย่อมสะดุ้งหวาดเสียวอยู่เป็นนิจ เหมือนเป็นแผลที่หัวใจ ใครจะเจ็บปวดด้วยหรือไม่ก็ตาม ผู้นั้นย่อมเจ็บปวดอยู่คนเดียว ความละอายและความกลัวเหล่านี้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ละอายและกลัวบาปกรรมที่ละเมิดล่วงเกินศีลข้อนั้น ๆ เมื่อมีความละอายและความกลัวบาปกรรมอยู่อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมมีสติระวังตัวอยู่ทุกเมื่อ แล้วมันจะล่วงละเมิดศีลข้อนั้น ๆ ได้อย่างไร

จักร 4
       จักร 4 หลักธรรม 4 ประการที่นำบุคคลไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย
1. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม
2. สัปปุริสูปสังเสวะ หมายถึง การคบสัตบุรุษ การเข้าไปคบกับคนดี ผู้มีสัปปุริสธรรม7
3. อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งอยู่ในสุจริต 3 ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
4. ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน

1. ปฏิรูปเทสวาสะ แปลว่า การอยู่ในประเทศอันสมควร หมายถึง การอยู่ในท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องกระทำ เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ การปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นต้น ผู้ต้องการศึกษาวิชาการสาขาใด ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีความพร้อมทุกๆ ด้าน เช่น ครู อาจารย์ ตำราเรียน การคมนาคมสะดวก และสิ่งอื่นๆ ที่จะอำนวยให้การเรียนมีประสิทธิภาพ ผู้ต้องการประกอบอาชีพเพาะปลูก ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีพื้นดินดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชนั้นๆ ผู้ต้องการประกอบอาชีพค้าขาย ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีประชากรหนาแน่น มีสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมสะดวก ผู้ต้องการปฏิบัติธรรม ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีพระสงฆ์ผู้รู้ธรรมและเคร่งครัดในพระวินัย มีผู้สนใจปฏิบัติธรรมกันมาก ส่วนภิกษุผู้ต้องการบำเพ็ญสมณธรรม คือเจริญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไปในที่อันเหมาะสม คือ ป่า โคนไม้ กระท่อมร้าง เป็นต้น ที่กล่าวข้างต้น หมายถึง ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ แต่ความหมายโดยตรงของจักรข้อที่ ๑ ได้แก่ การอยู่ในท้องถิ่นที่สามารถศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้ดี คือ ท้องถิ่นที่มีคนดีผู้รู้ธรรม

2. สัปปุริสูสังเสวะ (การเข้าไปคบหาคนดี) แปลว่า การคบสัตบุรุษ สัตบุรุษ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า คนดี คนสงบ ตรงกับภาษาบาลีว่า สัปปุริสะ ผู้ที่เป็นสัตบุรุษหรือสัปปุริสะ ย่อมมีสัปปุริสธรรม 7 ประการประจำตน ได้แก่

      1. รู้เหตุ         2. รู้ผล  

      3. รู้ตน          4. รู้ประมาณ

      5. รู้กาล         6. รู้ชุมชน

      7. รู้บุคคล การเข้าไปคบหา ได้แก่ การเข้าไปสนทนาไต่ถาม มอบตัวเป็นศิษย์ รับโอวาทของสัตบุรุษ เมื่ออยู่ในท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษ คือ คนดีตามจักรข้อ 1 แล้ว ก็เข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษนั้น เป็นจักรข้อที่ 2 สัตบุรุษย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้จักเว้นชั่วประพฤติดี ละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว

3. อัตตสัมมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ) แปลว่า การตั้งตนไว้ชอบ ตน หมายถึง ร่างกายและจิตใจ การตั้งตนไว้ชอบจึงหมายถึง การตั้งอยู่ในสุจริต 3 คือ
       •  กายสุจริต ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม
       •  วจีสุจริต ได้แก่ การไม่พูดเท็จ การไม่พูดส่อเสียด การไม่พูดคำหยาบ การไม่พูดเพ้อเจ้อ
       •  มโนสุจริต ได้แก่ การไม่อยากได้ของผู้อื่น การไม่คิดพยาบาทผู้อื่น การเห็นชอบตามคลองธรรม อีกนัยหนึ่ง หมายถึง
       •  การตั้งอยู่ในประโยชน์ปัจจุบัน ได้แก่ การหมั่นหาทรัพย์ การรักษาทรัพย์ไว้ การมีเพื่อนดี การเลี้ยงชีวิตพอเหมาะพอดี
       •  การตั้งอยู่ในประโยชน์ในอนาคต ได้แก่ ความสมบูรณ์ด้วยศรัทธา ความสมบูรณ์ด้วยศีล ความสมบูรณ์ด้วยจาคะ ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เมื่อเข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และสัตบุรุษแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำตามจักรข้อที่ 2 แล้ว ผู้เข้าไปคบหาสัตบุรุษนั้น ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของสัตบุรุษ ย่อมเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบ

4. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน) แปลว่า ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน หมายความว่า ได้ทำบุญไว้ในอดีต บุญนั้น
       •  กล่าวโดยเหตุ ได้แก่ กุศลกรรมหรือความดี
       •  กล่าวโดยผล ได้แก่ ความสุข มีความหมายว่า 
       คนทำความดีในอดีตย่อมได้รับความสุขในปัจจุบัน
       ทำความดีในปัจจุบันย่อมได้รับความสุขในอนาคต และผู้ที่ทำบุญหรือกระทำความดีนั้นยังได้รับความสุข ได้รับผลดีตอบแทนในขณะที่ทำนั้นด้วยความปิติยินดี ความสุขใจสบายใจที่ได้กระทำความดี การได้รับคำยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม การได้รับการปฏิบัติตอบที่ดี ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน อุปมาด้วยการเรียนหนังสือจนสำเร็จ ได้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร อันเป็นเครื่องแสดงคุณวุฒิให้เข้าทำงานได้ เมื่อทำงานเจริญก้าวหน้า มีตำแหน่งสูงขึ้น มีหลักฐานมั่นคง ก็ได้รับความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ ความสุขนั้นเป็นผลของความดี คือการเรียนหนังสือที่ได้กระทำไว้ในอดีต สำหรับความสุขที่ได้รับตามจักรข้อ 4 นี้ เกิดจากการตั้งตนไว้ชอบตามจักรข้อ 3 จักร 4 มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ข้อแรกๆ เป็นเหตุให้เกิดข้อหลังๆ กล่าวคือ การอยู่ในประเทศอันสมควร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษเป็นให้คบกับท่าน การคบกับสัตบุรุษเป็นเหตุให้ได้ฟัง ได้ศึกษา รู้จักบาปบุญ และละบาปบำเพ็ญบุญเป็นการตั้งตนไว้ชอบ ซึ่งจะได้รับความสุขอันเป็นผลของบุญในกาลต่อมา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้ทำบุญไว้แล้วในกาลก่อน

สัปปุริสธรรม  7

สัปปุริสธรรม 7 ธรรมของคนดี ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี

1. ธัมมัญญุตา = รู้จักเหตุ
         ความรู้จักธรรม หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล รู้จักวิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล อาทิ นักเรียนรู้ว่าจะเรียนอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้น เป็นต้น 
2. อัตถัญญุตา = รู้จักผล
         ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น
3. อัตตัญญุตา = รู้จักตน
         ความรู้จักตน คือ รู้ว่าตัว เรานั้น ว่ามีสถานภาพเป็นอะไร ฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น ว่าขณะนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป 
4. มัตตัญญุตา = รู้จักประมาณ
         ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ นักเรียนรู้จักประมาณ กำลังของตนเองในการทำงาน รัฐบาลรู้จักประมาณการเก็บภาษีและการใช้งบประมาณในการบริหารประเทศ เป็นต้น
5. กาลัญญุตา = รู้จักกาล
         ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น 
6. ปริสัญญุตา = รู้จักชุมชน
         ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักกลุ่มบุคคล รู้จักหมู่คณะ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา ต้องทำกิริยาหรือปฏิบัติแบบนี้ จะต้องพูดอย่างไร ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างไร เป็นต้น 
7. ปุคคลปโรปรัญญุตา = รู้จักบุคคล
          ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า มีอัธยาศัย มีความสามารถ มีคุณธรรม เป็นต้น ผู้ใดหยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ หรือยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น